Sunday, July 31, 2011

Migration การย้ายถิ่น

·        Migration
·    การย้ายถิ่น

การอพยพของประชากรจากรัฐหนึ่งหรือจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ อีกรัฐหนึ่งหรือสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง และการเข้าเมือง(immigration) เป็นการอพอพจากมุมมองของรัฐฝ่ายผู้รับผู้ย้ายถิ่น ส่วนการอพยพประชากรออกนอกประเทศจะเรียกว่าการย้ายถิ่นออก(emigration) การย้ายถิ่นของนุษย์มีมานานพอๆกับประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้เลยทีเดียว แต่กระแสคลื่นการย้ายถิ่นออกนอกประเทศหรืออีมิเกรชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น มีจำนวนคนมากกว่า 25 ล้านคน ซึ่งเป็นการย้ายถิ่นออกจากยุโรปในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี 1870 ถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนในทวีปเอเชียในช่วงเดียวกันนี้ก็มีชาวจีนย้ายถิ่นออกจากประเทศจีนปีละ ระหว่าง 70,000-80,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดสงครมกลางเมืองที่ภาคกลางของประเทศจีนนั้น มีตัวเลขของชาวจีนย้ายถิ่นออกจากประเทศจีนมากกว่า 200,000 คน ในปี ค.ศ. 1926 และในปี ค.ศ. 1927 ชาวจีนย้ายถิ่นเหล่านี้เกือบจะทั้งหมดเดินทางเข้าไปยังประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนจีนเหล่านี้เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศต่างๆเหล่านี้แล้วก็มีวัฒนธรรมเป็นของคนจีนเป็นเอกเทศต่างหากจากคนพื้นเมือง จึงเป็นปัญหาในเรื่องบูรณาการของชาติขึ้นมา การย้ายถิ่นของคนที่มีจำนวนมากๆได้ลดลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการย้ายถิ่นออกนอกประเทศเลยในช่วงทศวรรษหลังปี 1930 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การย้ายถิ่นมีอยู่ครั้งเดียวแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การย้ายถิ่นของชาวยิวจำนวนกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไปจากยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอิสราเอลซึ่งเป็นรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่(ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ศัพท์ว่า การย้ายถิ่น(migration)นี้ หมายถึง การอพยพคนจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งโดยความสมัครใจ มิได้หมายถึงคนที่ถูกบังคับให้อพยพหรือย้ายถิ่นโดยข้อบังคับของสนธิสัญญา

ความสำคัญ การย้ายถิ่นนี้ทีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งแก่รัฐที่คนย้ายถิ่นออกไปและรัฐที่เป็นฝ่ายรับผู้ย้ายถิ่นเข้าไปนั้น ในส่วนของประเทศที่มีคนย้ายออกไปนั้น การย้ายถิ่นของพลเมืองของตนออกไปอยู่ที่ประเทศอื่นเป็นการช่วยลดความกดดัน ทางสังคมอย่างเช่น ความยากจนในหมู่ของชาวไร่ชาวนา เป็นต้น เงินทองที่ผู้ย้ายถิ่นส่งกลับไปที่ประเทศเมืองแม่จะช่วยเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นให้ดีขึ้นมาได้ การออกไปจากประเทศของคนที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและของคนกลุ่มน้อยต่างๆ จะช่วยให้การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ส่วนข้อเสียของการย้ายถิ่นของคนออกนอกประเทศไปนั้นมีดังนี้ คือ ทำให้สูญเสียแรงงานมีฝีมือและคนหนุ่มสาวในวัยฉกรรจ์ไปกับหมู่ผู้ย้ายถิ่นออกนอกประเทศนั้น เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อคนที่ได้รับการฝึกอบรมไว้อย่างดีแล้วย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ประเทศอื่น และเป็นการสูญเสียกำลังพลที่จะถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นทหารประจำการอยู่ในกองทัพ ในส่วนของประเทศที่รับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่นั้น การรับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่มีส่วนดี คือ จะช่วยให้ได้แรงงานมีฝีมือและทำให้มีกำลังคนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะสามารถส่งคนผู้ย้ายถิ่นเข้ามานี้ไปอยู่ในดินแดนที่ยังรกร้างว่างเปล่าอยู่นั้นได้ และการมีคนเพิ่มขึ้นมานี้ก็จะทำให้สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ส่วนในข้อเสียนั้นก็คือว่า ผู้ย้ายถิ่นจะเป็นตัวก่อปัญหาในเรื่องการผสมกลมกลืนของคนภายในประเทศ เมื่อมีผู้ย้ายถิ่นอพยพเข้าไปอยู่ก็จะไปแย่งงานในตลาดแรงงานของประเทศผู้รับนั้น และก็มีอยู่บ่อยๆที่เรื่องการย้ายถิ่นนี้เป็นตัวการสร้างปัญหาความร้าวฉานในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีคนย้ายออกมากับประเทศที่เป็นฝ่ายผู้รับ ด้วยเหตุที่นโยบายการรับคนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศโดยไม่จำกัดจำนวนได้เลิกปฏิบัติแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ดังนั้นการย้ายถิ่นของคนจึงมิใช่วิธีการแก้ปัญหาคนล้นประเทศให้แก่บางประเทศได้อีกต่อไป จากการคำนวณโดยใช้ฐานของความหนาแน่นของประชากรในเชิงเปรียบเทียบทำให้ทราบได้ว่า มีหลายประเทศเป็นต้นว่า ออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ยังมีพื้นที่ว่างพอที่จะรองรับคนย้ายถิ่นฐานได้อีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องของพื้นที่รองรับจึงไม่เป็นปัญหา แต่การย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในประเทศใหมนั้นมีปัญหาอยู่ที่เรื่องคติถือ ชาติพันธุ์(คือเห็นว่าพวกเราดีกว่าพวกเขา) ปัญหาเรื่องชาตินิยม ปัญหาความกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการแย่งอาชีพกัน รวมทั้งปัญหาเลือกปฏิบัติทางด้านจิตวิทยาและด้านสังคม ก็จึงทำให้นโยบายการอพยพคนเข้าประเทศจำต้องมีการเลือกเฟ้นกันมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดีการย้ายถิ่นนี้ก็ได้ถูกเสนอให้นำไปใช้ควบคู่ไปกับการคุมกำเนิด และการเพิ่มผลผลิตทางอาหารและทรัพยากรอื่นๆ โดยให้ถือว่าเป็นวิธีการที่มีศักยภาพที่จะไปช่วยลดความกดดันอันมีผลสืบเนื่องมาจากประชากรล้นประเทศได้ทางหนึ่ง

No comments:

Post a Comment