Sunday, July 31, 2011

International Fund for Agricultural Development( IFAD) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

·    กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

องค์กรที่เริ่มต้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1977 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินประเภทให้เปล่าและเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการเพิ่มการผลิตอาหารในประเทศกลุ่มโลกที่สามที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก กองทุนไอเอฟเอดีเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติทำงานอยู่ภายใต้การ กำกับของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกับสมัชชาใหญ่ เงินที่นำมาใช้เป็นเงินกองทุนของไอเอฟเอดีนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาคของ ประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC)และจากกลุ่มประเทศตะวันตก คณะมนตรีการปกครองของกองทุนไอเอฟเอดีประกอบด้วยผู้แทนสามฝ่ายที่ได้สมดุลกัน คือ (1)ผู้แทนจากประเทศผู้บริจาคที่พัฒนาแล้ว(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น) (2) ผู้แทนประเทศผู้บริจาคที่กำลังพัฒนา(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศโอเปก) และ(3) ผู้แทนประเทศผู้รับที่กำลังพัฒนา(คือ กลุ่มประเทศในโลกที่สามและในโลกที่สี่)

ความสำคัญ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาทุพภิกขภัยและปัญหาทุโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากในประเทศกำลังพัฒนาอันสืบเนื่องมาจากประชากรล้นโลก สภาพทางอากาศเลวร้าย การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย ตลอดจนปัจจัยอื่นๆที่เป็นข้อไปจำกัดการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร แนวความคิดให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษมาทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมนี้เกิดขึ้นมาจากการประชุมเรื่องอาหารโลกที่กรุงโรมเมื่อปี ค.ศ. 1974 ระบบการจัดหาเงินทุนนี้สามารถทำงานไปได้ด้วยดีในช่วงระยะแรกๆ โดยสามารถจัดหาเงินทุนได้จำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์เพื่อการพัฒนาทางเกษตรกรรม แต่เมื่อราคาน้ำมันตกลงมากก็จึงทำให้กลุ่มชาติโอเป็กปฏิเสธที่จะบริจาคเงิน จำนวนมากๆเหมือนในอดีต ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการจัดเงินกองทุนมีผลกระทบเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการทำงานในอนาคตของกองทุนไอเอฟเอดี

No comments:

Post a Comment