Monday, August 1, 2011

Geopolitics ภูมิรัฐศาสตร์

·         Geopolitics
·   ภูมิรัฐศาสตร์

แนวทางนโยบายต่างประเทศที่พยายามอธิบายและพยากรณ์ พฤติกรรมทางการเมืองและขีดความสามารถทางด้านการทหารในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ด้วยเหตุนี้ภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นนิยัตินิยมทางประวัติศาสตร์(historical determinism)ที่อิงอาศัยภูมิศาสตร์ในระดับต่างๆ ฟรีดริช รัตเซล (Friedrich Ratzel)(1724-1804) ได้เปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ออกไปมิฉะนั้นก็จะต้องตาย สานุศิษย์ของรัตเซล ชื่อ รูดอล์ฟ เจลเลน (Rudolf Kjellen)(1864-1922) ก็ได้ดำเนินรอยตามกระบวนการเปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์นี้โดยกล่าวว่ารัฐเป็นอะไรมากไปกว่าแนวความคิดทางกฎหมาย เจลเลนได้พัฒนากฎเกณฑ์ว่าด้วยรัฐโดยกล่าวว่าเป็นอินทรีย์ทางภูมิศาสตร์ในเทศะและได้ตั้งชื่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่าภูมิรัฐศาสตร์ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ รัฐในฐานะที่เป็นรูปแบบแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง (The State as a Form of Life)(1916) หลักการของภูมิรัฐศาสตร์นี้ถึงแม้จะสร้างทฤษฎีโดยอิงภูมิศาสตร์และมีการนำเสนอในแง่ของการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งโฆษณาชวนเชื่ออยู่มากมาย เกียรติภูมิของภูมิรัฐศาสตร์เสื่อมเสียไปมากเพราะนักภูมิรัฐศาสตร์อย่างเช่น คาร์ล เฮาโชเฟอร์(Karl Haushofer)(1869-1946)มักจะให้การสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายแห่งชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพวกเขาจะพยายามอธิบายหรืออ้างเหตุผลให้การสนับสนุนในแง่ของการอ้างเหตุผลโดยอิงหลักภูมิศาสตร์ ศัพท์ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ นี้ก็ยังอาจจะนำไปใช้เพื่ออธิบายภูมิศาสตร์การเมืองที่พิจารณาในแง่ของโครงสร้างของโลกและรัฐที่เป็นองค์ประกอบของโลก หรืออาจจะใช้หมายถึงการวางแผนนโยบายต่างประเทศในรูปแบบที่นำองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ต่างๆมาใช้เป็นข้อพิจารณา


ความสำคัญ เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆมักจะเกิดในบริบททางภูมิศาสตร์ และองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์อาจมีอิทธิพลต่อกระแสของเหตุการณ์ได้ แต่ตัวมนุษย์เรานี่เองไม่ใช่ภูมิศาสตร์ที่ไหนที่เป็นผู้สร้างเหตุการณ์ทาง การเมือง ภูมิศาสตร์คือส่วนผสมขององค์ประกอบต่างๆ เช่น ขนาด ที่ตั้ง ภูมิอากาศ และภูมิประเทศเท่านั้นเอง นอกจากนี้แล้วภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งแต่ก็มิใช่ว่าจะเป็น ปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวโดยลำพังของอำนาจชาติ ความสำคัญของภูมิศาสตร์มีความสัมพันธ์กับข้อพิจารณาอื่นๆ เป็นต้นว่า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี พลังมนุษย์ และขวัญด้วย การที่เราจะตีค่าปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้โดยพิจารณาเข้าด้วยกันว่า เป็นสมการอำนาจชาติได้นั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำไปสัมพันธ์กับสมการอำนาจ ของรัฐอื่นๆโดยพิจารณาในบริบทของห้วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เป็นสิ่งที่นักปฏิบัตินโยบายต่างประเทศจะต้องนำมา พิจารณาอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์นี้จะเป็นปัจจัยคงที่อยู่ ตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น การมีพรมแดนติดต่อกับรัฐอื่นโดยไม่มีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาตินั้นจะช่วยอำนวย ความสะดวกในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐนั้นก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะทำให้เกิดความ ขัดแย้งกันเสมอไป สภาพน้ำแข็งในขั้วโลกอาจจะเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติทำให้รัฐที่อยู่ในอาณา บริเวณนั้นไม่สามารถพัฒนาเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้ แต่สภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางรัฐเช่นนี้พัฒนาเป็น มหาอำนาจทางอากาศแต่อย่างใด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์มีลักษณะไม่ผิดอะไรไปจากทฤษฎีที่ใช้เหตุผลอย่างเดียวใน การตีความทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายอย่างเช่นนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจเป็นต้น คือ ไม่สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจได้ อย่างไรก็ดีทฤษฎีทางภูมิศาสตร์นี้เป็นแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ ศึกษาการเมืองระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนได้อย่างกว้างไกลได้ดียิ่งขึ้น

Geopolitics: Haushofer Geopolitik ภูมิรัฐศาสตร์ : ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์

·   ภูมิรัฐศาสตร์ : ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์

ภูมิรัฐศาสตร์เยอรมันสาขาหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล เฮาโชเฟอร์(Karl Haushofer)(1869-1946) นายพลชาวเยอรมัน ที่เป็นทั้งนักภูมิศาสตร์ พักปฐพีวิทยา นักประวัติศาสตร์ และนักท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกไกล ยีโอโพลิติกของพลตรีเฮาโชเฟอร์นี้มีจุดเริ่มจากทฤษฎีดินแดนหัวใจ (heartland theory)ของนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด เจ. แมคคินเดอร์ (Sir Halford J. Mackinder)และจากแนวความคิดเกี่ยวกับเทศะ(space) และรัฐอินทรีย์ (organic state)ของฟีดริค รัตเซล(Friedrich Ratzel) และรูดอล์ฟ เจลเลน (Rudolf Kjellen)พลเอกเฮาโชเฟอร์และหมู่ศิษย์ที่สถาบันยีโอโพลิติกเมืองมิวนิค(Institute of Geopolitics in Munich) ได้ใช้แนวความคิดเหล่านี้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและได้วางแผนให้เยอรมนีสามารถเป็นผู้พิชิตได้ในอนาคต ในฐานะที่เป็นนายพลตรีในกองทัพบกเยอรมันเฮาโชเฟอร์มีความเห็นว่าอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)และพรรคนาซีของเขาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เยอรมนีบรรลุถึงเป้าหมายแห่งความเป็นผู้พิชิตโลกได้ ข้างฝ่ายฮิตเลอร์เองก็ได้ใช้ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แนวความคิดเรื่องลีเบนสราอุม(lebensraum)มาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองเหมือนกัน เฮาโชเฟอร์และสานุศิษย์ของเขาได้ใช้แนวทางในทฤษฎีดินแดนหัวใจมาสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ค่ายเยอรมนี-รัสเซีย-ญี่ปุ่นขึ้นมา โดยในที่สุดแล้วเยอรมนีก็จะผงาดขึ้นมาเป็นหัวโจกใหญ่ในค่ายนี้ได้ นอกจากนี้แล้วเฮาโชเฟอร์ก็ยังมองเห็นว่าอานุภาพของเยอรมนีจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซียโดยไม่มีความเป็นเอกภาพหากว่าฮิต เลอร์ดำเนินการไปตามแผนส่งกองทัพเยอรมันบุกเข้าไปในรัสเซีย แต่พอเฮาโชเฟอร์ได้พยายามชี้ชวนให้ฮิตเลอร์เลิกล้มแนวทางนี้ ฮิตเลอร์ก็ได้เลิกนิยมในตัวเขา และเขาได้ถูกนำตัวไปกักขังไว้ที่ค่ายกักกันแห่งหนึ่งในเมืองดาเชา(Dachao)เมื่อปี ค.ศ. 1944 ต่อมาเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 เขาก็ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันแต่ก็ได้ทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย)ในปีถัดมา

ความสำคัญ ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์เป็นการผสมผสานเข้ากันในเชิงกึ่งวิทยาศาสตร์ ระหว่างอภิปรัชญาทางภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และคตินิยมเชื้อชาติ อย่างไรก็ดียีโอโพลิติกนี้ก็มีความสำคัญเพราะว่าเป็นที่ยอมรับของชาวเยอรมันจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาพเสียขวัญจากการที่เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แนวความคิดสำคัญของยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์มีดังนี้ คือ (1) วัตถุประสงค์ทางทหารของรัฐจะต้องใช้นโยบายพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ (2) เผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมันถูกกำหนดชะตากรรมให้นำสันติภาพมาสู่โลกโดยการครอบครองโลก ส่วนรัฐอื่นๆก็จะต้องยินยอมให้เยอรมนีได้ลีเบนสราอุม(lebensraum)ตามที่ต้องการ (3) การปกครองของเยอรมันในอันดับแรกนั้นจะต้องขยายไปทั่วทุกดินแดนของเยอรมัน ทั้งในส่วนที่มีการใช้ภาษาเยอรมัน มีเผ่าพันธุ์เป็นคนเยอรมันหรือมีผลประโยชน์เป็นของเยอรมันก่อน ต่อจากนั้นไปก็ให้ขยายอำนาจไปทั่วทั้งโลก (4)การที่เยอรมันจะสามารถครอบครองเกาะแอฟโฟร-ยูเรเซีย(Afro-Eurasia)ได้สำเร็จนั้นก็จะต้องเอาชนะมหาอำนาจทางทะเลให้ได้โดยการเดินทัพทางบกที่ยาวไกลซึ่งก็จะทำให้เยอรมนีมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางทหารและจะเป็นฐานให้สามารถครอบครองโลกได้อย่างสมบูรณ์ และ(5) พรมแดนทั้งหลายทั้งปวงมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามและจะ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามบงการของผลประโยชน์แห่งชาติเยอรมัน วงการศึกษาภูมิรัฐศาสตร์ได้รับความเสื่อมเสียไปมากจากการที่ได้มีการนำเอายีโอโพลิติกนี้มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการขยายดินแดนของเยรมัน

Geopolitics : Heartland Theory ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีหัวใจ


·         Geopolitics : Heartland Theory
·    ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีหัวใจ

ทฤษฎีที่ว่ารัฐซึ่งสามารถครอบครองทรัพยากรทางมนุษย์และทางกายภาพของผืนแผ่นดินใหญ่ในยูเรเซียซึ่งอยู่ระหว่างเยอรมนีกับไซบีเรียตอนกลางได้ ก็จะอยู่ในฐานะครอบครองโลกได้ ทฤษฎีหัวใจนี้ได้รับการพัฒนาโดยนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด เจ. แมคคินเดอร์ (Sir Halford J. Mackinder) (1869-1947) ในบทความของเขาชื่อหัวใจทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์”(The Geographical Pivot of History) (1904) และในงานเขียนที่โด่งดังของเขา คือ อุดมคติประชาธิปไตยและความเป็นจริง: การศึกษารัฐศาสตร์ของการฟื้นฟู (Democratic Ideals and Reality: A Study in the Politics of Reconstruction)(1919) ทฤษฎีหัวใจนี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะผลจากการที่แมคคินเดอร์ได้ทำการศึกษาสัมพันธภาพในระดับโลกระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเล

ความสำคัญ แมคคินเดอร์ได้ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาว่า มีข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์บางอย่างมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อแนวทางของการ เมืองโลก ข้อเท็จจริงที่เขาพูดถึงนี้ ได้แก่ (1) มีเกาะโลก”(world island) (ยุโรป,เอเชีย และแอฟริกา) อยู่ล้อมรอบดินแดนหัวใจ” (heartland)หรือพื้นที่หัวใจ”(pivot area)ของยูเรเซีย ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากทางทะเล (2) มีดินแดนชายฝั่งทะเลของเกาะโลกนี้ คือ ดินแดนภายใน” (inner)หรือดินแดนเกือบเป็นรูปวงเดือน” (marginal crescent) ประกอบกันเป็นมหาอำนาจทางทะเล และ (3) มีฐานอำนาจของเกาะ ประกอบด้วย อเมริกาเหนือและใต้ กับออสเตรเลีย เรียกว่า อินซูลาร์”(insular) หรือวงเดือนรอบนอก”(outer crescent) แมคคินเดอร์มีสมมติฐานว่า มหาอำนาจทางบกจะเจริญเติบโตข้นเรื่อยๆจนเข้าครอบงำมหาอำนาจทางทะเล เขาจึงได้เตือนไว้ว่าใครครอบครองยุโรปตะวันออกได้ก็จะครอบครองดินแดนหัวใจ;ใครครอบครองดินแดนหัวใจได้ก็จะครอบครองเกาะโลก; ใครครอบครองเกาะโลกได้ก็จะครอบครองโลก” (who rules East Europe commands the Heartland; who rules the Heartland commands the World Island; who rules the World Island commands the World)แมคคินเดอร์ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเล ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ในฐานะที่จะเข้าครอบงำดินแดนหัวใจนั้นได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แมคคินเดอร์ได้ปรับปรุงทฤษฎีของเขาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ศึกษาพัฒนาการอานุภาพทางทะเลและการเติบโตทางอำนาจชาติของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ภายนอกเกาะโลกนั้น ในปี ค.ศ. 1919 เขาได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากเยอรมนีสามารถครอบครองสหภาพโซเวียตได้ และเมื่อปี ค.ศ. 1943 เขาก็ได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากสหภาพโซเวียตสามารถครอบครองเยอรมนีได้ แนววิเคราะห์ของแมคคินเดอร์นี้ก็ยังสามารถนำมาใช้กับโลกปัจจุบันได้โดยใช้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์ หรือใช้อธิบายถึงผลที่จะตามมาจากการรวมตัวอย่างใกล้ชิดของสหภาพโซเวียตและจีน

Sunday, July 31, 2011

Geopolitics:Rimland Theory ภูมิรัฐศาสตร์: ทฤษฎีขอบนอก

         Geopolitics:Rimland Theory 
        
    ภูมิรัฐศาสตร์: ทฤษฎีขอบนอก

ทฤษฎีที่เน้นย้ำว่าดินแดนขอบนอกต่างๆ ของยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ และตะวันออกไกลเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีขอบนอกนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยนักภูมิศาสตร์และนักภูมิรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันชื่อ นิโคลาส เจ. สปิ๊กแมน Nicholas J. Spykman(1893-1943) ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ภูมิศาสตร์แห่งสันติภาพ The Geography of Peace (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1944) สปิ๊กแมนได้พัฒนาทฤษฎีโดยอิงแนวความคิดในเรื่องขอบนอก(rimlands) ทั้งนี้โดยสอดประสานไปกับแนวความคิดเรื่องวงเดือนรอบใน(inner crescent)ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ ชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด แมคคินเดอร์ Sir Halford J. Mackinder เพียงแต่ได้ดัดแปลงและเรียกชื่อเสียใหม่เท่านั้นเอง สปิ๊กแมนมีข้อสมมติฐานว่า การครอบงำดินแดนขอบนอกเหล่านี้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยมหาอำนาจที่เป็นศัตรูจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เพราะว่าจากจุดนั้นไปจะทำให้มหาอำนาจนั้นมีสถานะที่สามารถโอบล้อมโลกใหม่ไว้ได้ สปิ๊กแมนได้ดัดแปลงแก้ไขถ้อยคำอันโด่งดังของแมคคินเดอร์เสียใหม่เป็นว่าใครครอบครองดินแดนขอบนอกก็จะครอบครองยูเรเซียได้; ใครครอบครองยูเรเซียได้ก็จะครอบครองชะตากรรมของโลกได้” (who controls the Rimland rules Eurasia; who rules Eurasia controls the destinies of the world."

ความสำคัญ ในการพัฒนาทฤษฎีขอบนอกนี้ สปิ๊กแมนได้ให้ความสนใจที่จะให้สหรัฐอเมริกายอบรับในสิ่งต่อไปนี้ คือ (1) ให้แต่ละรัฐรับผิดชอบต่อความมั่นคงของตนเองในขั้นสุดท้าย (2) ให้ความสำคัญต่อดุลอำนาจโลก และ(3) ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนอำนาจของสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างเสถียรภาพดุลอำนาจโลกดังกล่าว ในการวิเคราะห์ปัจจัยของความมั่นคงของสหรัฐอเมริกานี้ได้นำปัจจัยต่างๆมา พิจารณาอย่างกว้างขวางดังนี้ คือ (1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ที่ตั้ง, ขนาด, ภูมิประเทศ (2) ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ทรัพยากรทางการเกษตรและทรัพยากรทางด้านอุตสาหกรรม, ประชากร, การผลิตทางอุตสาหกรรม และ (3) ปัจจัยทางการเมือง กล่าวคือ ขวัญของชาติ, เสถียรภาพทางการเมือง และบูรณาการทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้สปิ๊กแมนจึงมิได้ใช้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างเดียวมาวิเคราะห์ เพียงแต่เขาได้เน้นย้ำว่าภูมิศาสตร์เป็น "ปัจจัยสร้างเงื่อนไขสำคัญมากที่สุดของนโยบายต่างประเทศ"(most fundamentally conditioning factor of foreign policy)

Geopolitics: Sea Power Theory ภูมิรัฐศาสตร์:ทฤษฎีอำนาจทางทะเล

·         Geopolitics: Sea Power Theory
·    ภูมิรัฐศาสตร์:ทฤษฎีอำนาจทางทะเล

ทฤษฎีที่มีสมมติฐานว่าอำนาจทางเรือ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่อำนาจโลกได้ อำนาจทางทะเลในฐานะเป็นรากฐานของทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยนายทหารเรือชาวอเมริกันชื่อว่า พลเรือเอก อัลเฟรด ทาเยอร์ มาฮาน (Admiral Alfred Thayer Mahan) (1840-1914) โดยผ่านทางแนวความคิดของเขาว่า ทะเลต่างๆของโลกทำหน้าที่เชื่อมผืนแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกันยิ่งกว่าที่จะไปแยกมันออกจากกัน ดังนั้นการแสวงหาและการปกป้องจักรวรรดิต่างๆในโพ้นทะเลจะกระทำได้ก็ต้องอาศัยความสามารถในการควบคุมทะเล ลักษณะสำคัญของงานเขียนของพลเรือเอกมาฮานมีดังนี้ (1) เป็นการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางเรือของอังกฤษที่ อธิบายถึงบทบาทของบริเตนใหญ่(Great Britain) ในฐานะเป็นมหาอำนาจโลก (2) มีความยึดมั่นต่อแนวความคิดว่าภารกิจในระดับโลกของสหรัฐอเมริกาจะดำเนินไปได้ก็โดยการขยายอำนาจไปยังภาคโพ้นทะเล และ(3) การหาเหตุผลมาอ้างว่าจักรวรรดินิยมเป็นสิ่งสมควรโดยมีสมมติฐานว่า ประเทศต่างๆจะอยู่นิ่งๆในด้านเทศะไม่ได้ แต่จะต้องขยายตัวออกไปมิฉะนั้นแล้วก็จะเสื่อมสลายไปได้

ความสำคัญ การใช้ทฤษฎีอำนาจทางทะเลมาวิเคราะห์สหรัฐอเมริกานี้มีรากฐานมาจากทัศนะของพลเอกมาฮานที่เห็นว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกามีข้อคล้ายคลึงกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบริเตนใหญ่(Great Britain) มาฮานเห็นว่ามหาอำนาจทางบกของยุโรปพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งไม่สามารถท้าทายความยิ่งใหญ่ทางทะเลของบริเตนใหญ่หรือของสหรัฐอเมริกาได้เพราะว่าจะ ต้องได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทางบกที่ยิ่งใหญ่มากจึงจะทำได้ มาฮานได้สรุปลงว่า ความยิ่งใหญ่ทางเรือของอังกฤษไม่ยั่งยืนถาวรและว่า สหรัฐอเมริกาสามารถสถาปนาความยิ่งใหญ่ของตนขึ้นมาในทะเลคาริบเบียนและในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ หนังสือของมาฮานที่ชื่อ อิทธิพลของอำนาจทางทะเลต่อประวัติศาสตร์ ระหว่างปี ค.ศ.1660-1783 (The Influence of Sea Power upon History 1660-1783) (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1890) นี้มีนักนิยมขยายดินแดนหลายชั่วคนนำมาอ่านกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและในเยอรมนี ความคิดของมาฮานยังคงมีความสอดคล้องต้องกันในประเด็นที่ว่า รัฐต่างๆที่มีผลประโยชน์กระจายอยู่ทั่วโลกนั้นจะต้องมีความสามารถที่ส่ง กำลังและใช้อำนาจของตนอย่างมีประสิทธิผลในที่ใกลมากๆจากดินแดนเมืองแม่ของตน

Green Revolution การปฏิวัติทางกสิกรรม

·         Green Revolution
·    การปฏิวัติทางกสิกรรม

การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการผลิตทางเกษตรกรรมที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อทศวรรษหลังปี 1960 โดยวิธีพัฒนาเมล็ดข้าวสาลีและเมล็ดข้าวเจ้าที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์ใหม่ๆตลอด จนมีการใช้น้ำและปุ๋ยในปริมาณมากๆด้วย การปฏิวัติทางกสิกรรมได้ถูกกรุยทางโดยนักพันธุกรรมศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลชื่อ นอร์แมน อี.บอร์ลาค (Norman E. Borlaug) โดยเขาได้ริเริ่มการทดลองต่างๆจนได้พันธุ์พืชพันธุ์ใหม่เหล่านี้เป็นคนแรก ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาอาหารมาช่วยขจัดวงจรแห่งความอดอยากหิวโหยของประชากรในประเทศกลุ่มโลกที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศต่างๆใน แถบเอเชียและแอฟริกา

ความสำคัญ ความสำเร็จในช่วงแรกๆของการปฏิวัติทางกสิกรรม คือ การทำให้การผลิตอาหารในหลายประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริการะหว่างทศวรรษหลัง ปี 1960 เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่าก็มีเป็นสามเท่าก็มี ในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี 1970 และทศวรรษหลังปี 1980 แม้ว่าจะต้องใช้ต้นทุนของพลังงานสูงขึ้นมามากเพื่อผลิตปุ๋ยและสูบน้ำ แต่การผลิตอาหารก็ได้เพิ่มขึ้นมามากอีกเช่นกัน อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดความแห้งแล้งในบางพื้นที่ก็ได้ทำให้ผลผลิตลดน้อยลงไปบ้าง พอถึงปลายทศวรรษหลังปี 1980 ผลผลิตทางเกษตรกรรมในทวีปแอฟริกาไม่พอกับจำนวนประชากรที่เกิดขึ้นมามากเหลือเกิน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในขณะนี้กำลังพยายามจะทำการปฏิวัติทางกสิกรรมเป็นครั้งที่สอง เพื่อนำมาใช้กับโลกที่กำลังขาดแคลนพลังงานอย่างเช่นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขากำลังพัฒนาพันธ์พืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตผลผลิตปีละสองหนแทนที่จะเป็นหนเดียวอย่างแต่ก่อน นอกจากนั้นแล้วพวกเขาก็ยังได้พยายามหาหญ้าและต้นไม้ต่างๆมาทดลองปลูกปนไปกับข้าวสาลีและข้าวเจ้าเพื่อให้หญ้าและพืชเหล่านี้เป็นปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับข้าวสาลีและข้าวเจ้านั้น ความพยายามที่จะปฏิวัติทางกสิกรรมครั้งที่สองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในระดับโลกที่จะพัฒนาวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนประชากรที่มีอัตราการเกิดมากกว่าการตายจนทำให้ประชากรล้นโลกอยู่ในปัจจุบัน

International Fund for Agricultural Development( IFAD) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

·    กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

องค์กรที่เริ่มต้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1977 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินประเภทให้เปล่าและเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการเพิ่มการผลิตอาหารในประเทศกลุ่มโลกที่สามที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก กองทุนไอเอฟเอดีเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติทำงานอยู่ภายใต้การ กำกับของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกับสมัชชาใหญ่ เงินที่นำมาใช้เป็นเงินกองทุนของไอเอฟเอดีนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาคของ ประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC)และจากกลุ่มประเทศตะวันตก คณะมนตรีการปกครองของกองทุนไอเอฟเอดีประกอบด้วยผู้แทนสามฝ่ายที่ได้สมดุลกัน คือ (1)ผู้แทนจากประเทศผู้บริจาคที่พัฒนาแล้ว(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น) (2) ผู้แทนประเทศผู้บริจาคที่กำลังพัฒนา(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศโอเปก) และ(3) ผู้แทนประเทศผู้รับที่กำลังพัฒนา(คือ กลุ่มประเทศในโลกที่สามและในโลกที่สี่)

ความสำคัญ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาทุพภิกขภัยและปัญหาทุโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากในประเทศกำลังพัฒนาอันสืบเนื่องมาจากประชากรล้นโลก สภาพทางอากาศเลวร้าย การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย ตลอดจนปัจจัยอื่นๆที่เป็นข้อไปจำกัดการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร แนวความคิดให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษมาทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมนี้เกิดขึ้นมาจากการประชุมเรื่องอาหารโลกที่กรุงโรมเมื่อปี ค.ศ. 1974 ระบบการจัดหาเงินทุนนี้สามารถทำงานไปได้ด้วยดีในช่วงระยะแรกๆ โดยสามารถจัดหาเงินทุนได้จำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์เพื่อการพัฒนาทางเกษตรกรรม แต่เมื่อราคาน้ำมันตกลงมากก็จึงทำให้กลุ่มชาติโอเป็กปฏิเสธที่จะบริจาคเงิน จำนวนมากๆเหมือนในอดีต ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการจัดเงินกองทุนมีผลกระทบเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการทำงานในอนาคตของกองทุนไอเอฟเอดี