Sunday, July 31, 2011

Geopolitics:Rimland Theory ภูมิรัฐศาสตร์: ทฤษฎีขอบนอก

         Geopolitics:Rimland Theory 
        
    ภูมิรัฐศาสตร์: ทฤษฎีขอบนอก

ทฤษฎีที่เน้นย้ำว่าดินแดนขอบนอกต่างๆ ของยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ และตะวันออกไกลเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา ทฤษฎีขอบนอกนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยนักภูมิศาสตร์และนักภูมิรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันชื่อ นิโคลาส เจ. สปิ๊กแมน Nicholas J. Spykman(1893-1943) ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ภูมิศาสตร์แห่งสันติภาพ The Geography of Peace (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1944) สปิ๊กแมนได้พัฒนาทฤษฎีโดยอิงแนวความคิดในเรื่องขอบนอก(rimlands) ทั้งนี้โดยสอดประสานไปกับแนวความคิดเรื่องวงเดือนรอบใน(inner crescent)ของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ ชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด แมคคินเดอร์ Sir Halford J. Mackinder เพียงแต่ได้ดัดแปลงและเรียกชื่อเสียใหม่เท่านั้นเอง สปิ๊กแมนมีข้อสมมติฐานว่า การครอบงำดินแดนขอบนอกเหล่านี้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยมหาอำนาจที่เป็นศัตรูจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา เพราะว่าจากจุดนั้นไปจะทำให้มหาอำนาจนั้นมีสถานะที่สามารถโอบล้อมโลกใหม่ไว้ได้ สปิ๊กแมนได้ดัดแปลงแก้ไขถ้อยคำอันโด่งดังของแมคคินเดอร์เสียใหม่เป็นว่าใครครอบครองดินแดนขอบนอกก็จะครอบครองยูเรเซียได้; ใครครอบครองยูเรเซียได้ก็จะครอบครองชะตากรรมของโลกได้” (who controls the Rimland rules Eurasia; who rules Eurasia controls the destinies of the world."

ความสำคัญ ในการพัฒนาทฤษฎีขอบนอกนี้ สปิ๊กแมนได้ให้ความสนใจที่จะให้สหรัฐอเมริกายอบรับในสิ่งต่อไปนี้ คือ (1) ให้แต่ละรัฐรับผิดชอบต่อความมั่นคงของตนเองในขั้นสุดท้าย (2) ให้ความสำคัญต่อดุลอำนาจโลก และ(3) ความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนอำนาจของสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างเสถียรภาพดุลอำนาจโลกดังกล่าว ในการวิเคราะห์ปัจจัยของความมั่นคงของสหรัฐอเมริกานี้ได้นำปัจจัยต่างๆมา พิจารณาอย่างกว้างขวางดังนี้ คือ (1) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ กล่าวคือ ที่ตั้ง, ขนาด, ภูมิประเทศ (2) ปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ ทรัพยากรทางการเกษตรและทรัพยากรทางด้านอุตสาหกรรม, ประชากร, การผลิตทางอุตสาหกรรม และ (3) ปัจจัยทางการเมือง กล่าวคือ ขวัญของชาติ, เสถียรภาพทางการเมือง และบูรณาการทางสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้สปิ๊กแมนจึงมิได้ใช้ปัจจัยทางภูมิศาสตร์อย่างเดียวมาวิเคราะห์ เพียงแต่เขาได้เน้นย้ำว่าภูมิศาสตร์เป็น "ปัจจัยสร้างเงื่อนไขสำคัญมากที่สุดของนโยบายต่างประเทศ"(most fundamentally conditioning factor of foreign policy)

Geopolitics: Sea Power Theory ภูมิรัฐศาสตร์:ทฤษฎีอำนาจทางทะเล

·         Geopolitics: Sea Power Theory
·    ภูมิรัฐศาสตร์:ทฤษฎีอำนาจทางทะเล

ทฤษฎีที่มีสมมติฐานว่าอำนาจทางเรือ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่อำนาจโลกได้ อำนาจทางทะเลในฐานะเป็นรากฐานของทฤษฎีภูมิรัฐศาสตร์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดยนายทหารเรือชาวอเมริกันชื่อว่า พลเรือเอก อัลเฟรด ทาเยอร์ มาฮาน (Admiral Alfred Thayer Mahan) (1840-1914) โดยผ่านทางแนวความคิดของเขาว่า ทะเลต่างๆของโลกทำหน้าที่เชื่อมผืนแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกันยิ่งกว่าที่จะไปแยกมันออกจากกัน ดังนั้นการแสวงหาและการปกป้องจักรวรรดิต่างๆในโพ้นทะเลจะกระทำได้ก็ต้องอาศัยความสามารถในการควบคุมทะเล ลักษณะสำคัญของงานเขียนของพลเรือเอกมาฮานมีดังนี้ (1) เป็นการวิเคราะห์ในเชิงวิชาการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางเรือของอังกฤษที่ อธิบายถึงบทบาทของบริเตนใหญ่(Great Britain) ในฐานะเป็นมหาอำนาจโลก (2) มีความยึดมั่นต่อแนวความคิดว่าภารกิจในระดับโลกของสหรัฐอเมริกาจะดำเนินไปได้ก็โดยการขยายอำนาจไปยังภาคโพ้นทะเล และ(3) การหาเหตุผลมาอ้างว่าจักรวรรดินิยมเป็นสิ่งสมควรโดยมีสมมติฐานว่า ประเทศต่างๆจะอยู่นิ่งๆในด้านเทศะไม่ได้ แต่จะต้องขยายตัวออกไปมิฉะนั้นแล้วก็จะเสื่อมสลายไปได้

ความสำคัญ การใช้ทฤษฎีอำนาจทางทะเลมาวิเคราะห์สหรัฐอเมริกานี้มีรากฐานมาจากทัศนะของพลเอกมาฮานที่เห็นว่าที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกามีข้อคล้ายคลึงกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของบริเตนใหญ่(Great Britain) มาฮานเห็นว่ามหาอำนาจทางบกของยุโรปพร้อมกับเพื่อนบ้านที่เข้มแข็งไม่สามารถท้าทายความยิ่งใหญ่ทางทะเลของบริเตนใหญ่หรือของสหรัฐอเมริกาได้เพราะว่าจะ ต้องได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทางบกที่ยิ่งใหญ่มากจึงจะทำได้ มาฮานได้สรุปลงว่า ความยิ่งใหญ่ทางเรือของอังกฤษไม่ยั่งยืนถาวรและว่า สหรัฐอเมริกาสามารถสถาปนาความยิ่งใหญ่ของตนขึ้นมาในทะเลคาริบเบียนและในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ หนังสือของมาฮานที่ชื่อ อิทธิพลของอำนาจทางทะเลต่อประวัติศาสตร์ ระหว่างปี ค.ศ.1660-1783 (The Influence of Sea Power upon History 1660-1783) (ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.1890) นี้มีนักนิยมขยายดินแดนหลายชั่วคนนำมาอ่านกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและในเยอรมนี ความคิดของมาฮานยังคงมีความสอดคล้องต้องกันในประเด็นที่ว่า รัฐต่างๆที่มีผลประโยชน์กระจายอยู่ทั่วโลกนั้นจะต้องมีความสามารถที่ส่ง กำลังและใช้อำนาจของตนอย่างมีประสิทธิผลในที่ใกลมากๆจากดินแดนเมืองแม่ของตน

Green Revolution การปฏิวัติทางกสิกรรม

·         Green Revolution
·    การปฏิวัติทางกสิกรรม

การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในการผลิตทางเกษตรกรรมที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อทศวรรษหลังปี 1960 โดยวิธีพัฒนาเมล็ดข้าวสาลีและเมล็ดข้าวเจ้าที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์ใหม่ๆตลอด จนมีการใช้น้ำและปุ๋ยในปริมาณมากๆด้วย การปฏิวัติทางกสิกรรมได้ถูกกรุยทางโดยนักพันธุกรรมศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลชื่อ นอร์แมน อี.บอร์ลาค (Norman E. Borlaug) โดยเขาได้ริเริ่มการทดลองต่างๆจนได้พันธุ์พืชพันธุ์ใหม่เหล่านี้เป็นคนแรก ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาอาหารมาช่วยขจัดวงจรแห่งความอดอยากหิวโหยของประชากรในประเทศกลุ่มโลกที่สามโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศต่างๆใน แถบเอเชียและแอฟริกา

ความสำคัญ ความสำเร็จในช่วงแรกๆของการปฏิวัติทางกสิกรรม คือ การทำให้การผลิตอาหารในหลายประเทศทั้งในเอเชียและแอฟริการะหว่างทศวรรษหลัง ปี 1960 เพิ่มขึ้นมาเป็นสองเท่าก็มีเป็นสามเท่าก็มี ในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี 1970 และทศวรรษหลังปี 1980 แม้ว่าจะต้องใช้ต้นทุนของพลังงานสูงขึ้นมามากเพื่อผลิตปุ๋ยและสูบน้ำ แต่การผลิตอาหารก็ได้เพิ่มขึ้นมามากอีกเช่นกัน อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดความแห้งแล้งในบางพื้นที่ก็ได้ทำให้ผลผลิตลดน้อยลงไปบ้าง พอถึงปลายทศวรรษหลังปี 1980 ผลผลิตทางเกษตรกรรมในทวีปแอฟริกาไม่พอกับจำนวนประชากรที่เกิดขึ้นมามากเหลือเกิน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในขณะนี้กำลังพยายามจะทำการปฏิวัติทางกสิกรรมเป็นครั้งที่สอง เพื่อนำมาใช้กับโลกที่กำลังขาดแคลนพลังงานอย่างเช่นทุกวันนี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขากำลังพัฒนาพันธ์พืชพันธุ์ใหม่ที่สามารถผลิตผลผลิตปีละสองหนแทนที่จะเป็นหนเดียวอย่างแต่ก่อน นอกจากนั้นแล้วพวกเขาก็ยังได้พยายามหาหญ้าและต้นไม้ต่างๆมาทดลองปลูกปนไปกับข้าวสาลีและข้าวเจ้าเพื่อให้หญ้าและพืชเหล่านี้เป็นปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับข้าวสาลีและข้าวเจ้านั้น ความพยายามที่จะปฏิวัติทางกสิกรรมครั้งที่สองนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในระดับโลกที่จะพัฒนาวิธีการที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนประชากรที่มีอัตราการเกิดมากกว่าการตายจนทำให้ประชากรล้นโลกอยู่ในปัจจุบัน

International Fund for Agricultural Development( IFAD) กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

·    กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม(ไอเอฟเอดี)

องค์กรที่เริ่มต้นขึ้นมาในปี ค.ศ. 1977 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเงินประเภทให้เปล่าและเงินกู้เพื่อช่วยเหลือในการเพิ่มการผลิตอาหารในประเทศกลุ่มโลกที่สามที่กำลังขาดแคลนอย่างหนัก กองทุนไอเอฟเอดีเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติทำงานอยู่ภายใต้การ กำกับของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมกับสมัชชาใหญ่ เงินที่นำมาใช้เป็นเงินกองทุนของไอเอฟเอดีนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเงินบริจาคของ ประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมัน(OPEC)และจากกลุ่มประเทศตะวันตก คณะมนตรีการปกครองของกองทุนไอเอฟเอดีประกอบด้วยผู้แทนสามฝ่ายที่ได้สมดุลกัน คือ (1)ผู้แทนจากประเทศผู้บริจาคที่พัฒนาแล้ว(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศตะวันตกและญี่ปุ่น) (2) ผู้แทนประเทศผู้บริจาคที่กำลังพัฒนา(ส่วนใหญ่คือกลุ่มประเทศโอเปก) และ(3) ผู้แทนประเทศผู้รับที่กำลังพัฒนา(คือ กลุ่มประเทศในโลกที่สามและในโลกที่สี่)

ความสำคัญ กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมนี้ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อสนองตอบต่อปัญหาทุพภิกขภัยและปัญหาทุโภชนาการที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากในประเทศกำลังพัฒนาอันสืบเนื่องมาจากประชากรล้นโลก สภาพทางอากาศเลวร้าย การขาดแคลนเมล็ดพันธุ์พืชและปุ๋ย ตลอดจนปัจจัยอื่นๆที่เป็นข้อไปจำกัดการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหาร แนวความคิดให้มีการจัดตั้งองค์กรพิเศษมาทำหน้าที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมนี้เกิดขึ้นมาจากการประชุมเรื่องอาหารโลกที่กรุงโรมเมื่อปี ค.ศ. 1974 ระบบการจัดหาเงินทุนนี้สามารถทำงานไปได้ด้วยดีในช่วงระยะแรกๆ โดยสามารถจัดหาเงินทุนได้จำนวนหลายพันล้านดอลล่าร์เพื่อการพัฒนาทางเกษตรกรรม แต่เมื่อราคาน้ำมันตกลงมากก็จึงทำให้กลุ่มชาติโอเป็กปฏิเสธที่จะบริจาคเงิน จำนวนมากๆเหมือนในอดีต ความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการจัดเงินกองทุนมีผลกระทบเป็นอันตรายร้ายแรงต่อการทำงานในอนาคตของกองทุนไอเอฟเอดี

Malthusianism คตินิยมมัลทูเซียน

·       Malthusianism
·   คตินิยมมัลทูเซียน

ทฤษฎีที่มีสมมติฐานว่า ประชากรจะเพิ่มขึ้นในแบบเรขาคณิต( คือ 2, 4, 8, 16, 32….) แต่ปัจจัยการดำรงชีพเพิ่มขึ้นในแบบเลขคณิต (คือ 2, 4, 6, 8, 10….) คตินิยมมัลทูเซียนจึงได้บอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้เสียแล้วก็จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสามารถปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพได้ และว่า อัตราส่วนระหว่างประชากรกับอาหารจะดำรงอยู่ได้ก็โดยเกิดการแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้นมา คือ เกิดสงคราม โรคระบาด โรคภัยไข้เจ็บ ผู้สร้างคตินิยมมัลทูเซียนคือนักเศรษฐศาสตร์อังกฤษชื่อ โทมัส มัลทัส(Thomas Malthus)(1776-1834)และทฤษฎีนี้ได้เสื่อมความนิยมลงไปเมื่อตอนที่เกิดการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมที่สามารถทำให้ประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตกมีทั้งมาตรฐานการครองชีพที่สูงและมีประชากรเพิ่มขึ้นมามากในขณะเดียวกันนั้นด้วย

ความสำคัญ ในโลกปัจจุบันนี้คตินิยมมัลทูเซียนมักจะเรียกกันว่าคตินิยมมัลทูเซียนใหม่ (neo-Multhusianism) เพราะได้มีการนำเอาแนวความคิดเดิมมาประยุกต์ใช้กับสภาพแวดล้อมใหม่ การที่มีการนำเอาแนวความคิดนี้กลับมาใช้ใหม่เป็นการส่อแสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสัมพันธภาพที่เลวร้ายลงเรื่อยๆระหว่างประชากรกับอาหาร ในหมู่ประเทศอุตสาหกรรมนั้นมาตรฐานการครองชีพยังคงสูงอยู่ได้ต่อไป แต่ในหลายประเทศของกลุ่มที่กำลังพัฒนาซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบจะเป็นทั้งหมดของประชากรโลกนั้น มาตรฐานการครองชีพได้แต่ทรงตัวอยู่ได้แค่นั้นเอง มีหลายประเทศที่เป็นผู้ส่งออกทางด้านอาหารแต่ก็ได้กลายเป็นผู้นำเข้าสินค้าอื่นๆในขณะเดียวกัน ผลก็คือเกิดเป็นช่องว่างระหว่างสังคมคนรวยกับสังคมคนจนที่ขยายถ่างกว้างออกไปมากยิ่งขึ้น พวกที่ยึดถือคตินิยมมัลทูเซียนใหม่ได้เตือนไว้ว่า หากประชากรที่เพิ่มขึ้นมามากมายนี้ยังไม่สามารถควบคุมได้ ทรัพยากรธรรมชาติก็จะถูกถลุงจนป่นปี้ไปหมด และผลิตภัณฑ์อาหารก็จะต้องเพิ่มขึ้นอยู่อย่างไม่หยุดไม่หย่อน เมื่อเป็นเช่นนี้อนาคตของมวลมนุษยชาติก็จะไม่แคล้วที่จะถึงความวิบัติดังที่มัลทัสได้ทำนายไว้แล้วนั้น

Migration การย้ายถิ่น

·        Migration
·    การย้ายถิ่น

การอพยพของประชากรจากรัฐหนึ่งหรือจากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ อีกรัฐหนึ่งหรือสู่อีกภูมิภาคหนึ่ง และการเข้าเมือง(immigration) เป็นการอพอพจากมุมมองของรัฐฝ่ายผู้รับผู้ย้ายถิ่น ส่วนการอพยพประชากรออกนอกประเทศจะเรียกว่าการย้ายถิ่นออก(emigration) การย้ายถิ่นของนุษย์มีมานานพอๆกับประวัติศาสตร์ที่ได้มีการบันทึกไว้เลยทีเดียว แต่กระแสคลื่นการย้ายถิ่นออกนอกประเทศหรืออีมิเกรชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้น มีจำนวนคนมากกว่า 25 ล้านคน ซึ่งเป็นการย้ายถิ่นออกจากยุโรปในช่วงระหว่างทศวรรษหลังปี 1870 ถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนในทวีปเอเชียในช่วงเดียวกันนี้ก็มีชาวจีนย้ายถิ่นออกจากประเทศจีนปีละ ระหว่าง 70,000-80,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดสงครมกลางเมืองที่ภาคกลางของประเทศจีนนั้น มีตัวเลขของชาวจีนย้ายถิ่นออกจากประเทศจีนมากกว่า 200,000 คน ในปี ค.ศ. 1926 และในปี ค.ศ. 1927 ชาวจีนย้ายถิ่นเหล่านี้เกือบจะทั้งหมดเดินทางเข้าไปยังประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนจีนเหล่านี้เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศต่างๆเหล่านี้แล้วก็มีวัฒนธรรมเป็นของคนจีนเป็นเอกเทศต่างหากจากคนพื้นเมือง จึงเป็นปัญหาในเรื่องบูรณาการของชาติขึ้นมา การย้ายถิ่นของคนที่มีจำนวนมากๆได้ลดลงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการย้ายถิ่นออกนอกประเทศเลยในช่วงทศวรรษหลังปี 1930 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การย้ายถิ่นมีอยู่ครั้งเดียวแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การย้ายถิ่นของชาวยิวจำนวนกว่าหนึ่งล้านคนจากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไปจากยุโรป แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลางเพื่อเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอิสราเอลซึ่งเป็นรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่(ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ศัพท์ว่า การย้ายถิ่น(migration)นี้ หมายถึง การอพยพคนจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งโดยความสมัครใจ มิได้หมายถึงคนที่ถูกบังคับให้อพยพหรือย้ายถิ่นโดยข้อบังคับของสนธิสัญญา

ความสำคัญ การย้ายถิ่นนี้ทีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทั้งแก่รัฐที่คนย้ายถิ่นออกไปและรัฐที่เป็นฝ่ายรับผู้ย้ายถิ่นเข้าไปนั้น ในส่วนของประเทศที่มีคนย้ายออกไปนั้น การย้ายถิ่นของพลเมืองของตนออกไปอยู่ที่ประเทศอื่นเป็นการช่วยลดความกดดัน ทางสังคมอย่างเช่น ความยากจนในหมู่ของชาวไร่ชาวนา เป็นต้น เงินทองที่ผู้ย้ายถิ่นส่งกลับไปที่ประเทศเมืองแม่จะช่วยเศรษฐกิจภายในประเทศนั้นให้ดีขึ้นมาได้ การออกไปจากประเทศของคนที่กระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลและของคนกลุ่มน้อยต่างๆ จะช่วยให้การเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ส่วนข้อเสียของการย้ายถิ่นของคนออกนอกประเทศไปนั้นมีดังนี้ คือ ทำให้สูญเสียแรงงานมีฝีมือและคนหนุ่มสาวในวัยฉกรรจ์ไปกับหมู่ผู้ย้ายถิ่นออกนอกประเทศนั้น เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจเมื่อคนที่ได้รับการฝึกอบรมไว้อย่างดีแล้วย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ประเทศอื่น และเป็นการสูญเสียกำลังพลที่จะถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นทหารประจำการอยู่ในกองทัพ ในส่วนของประเทศที่รับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่นั้น การรับผู้ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่มีส่วนดี คือ จะช่วยให้ได้แรงงานมีฝีมือและทำให้มีกำลังคนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะสามารถส่งคนผู้ย้ายถิ่นเข้ามานี้ไปอยู่ในดินแดนที่ยังรกร้างว่างเปล่าอยู่นั้นได้ และการมีคนเพิ่มขึ้นมานี้ก็จะทำให้สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ส่วนในข้อเสียนั้นก็คือว่า ผู้ย้ายถิ่นจะเป็นตัวก่อปัญหาในเรื่องการผสมกลมกลืนของคนภายในประเทศ เมื่อมีผู้ย้ายถิ่นอพยพเข้าไปอยู่ก็จะไปแย่งงานในตลาดแรงงานของประเทศผู้รับนั้น และก็มีอยู่บ่อยๆที่เรื่องการย้ายถิ่นนี้เป็นตัวการสร้างปัญหาความร้าวฉานในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีคนย้ายออกมากับประเทศที่เป็นฝ่ายผู้รับ ด้วยเหตุที่นโยบายการรับคนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศโดยไม่จำกัดจำนวนได้เลิกปฏิบัติแล้วตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ดังนั้นการย้ายถิ่นของคนจึงมิใช่วิธีการแก้ปัญหาคนล้นประเทศให้แก่บางประเทศได้อีกต่อไป จากการคำนวณโดยใช้ฐานของความหนาแน่นของประชากรในเชิงเปรียบเทียบทำให้ทราบได้ว่า มีหลายประเทศเป็นต้นว่า ออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ยังมีพื้นที่ว่างพอที่จะรองรับคนย้ายถิ่นฐานได้อีกจำนวนมาก เพราะฉะนั้นในเรื่องของพื้นที่รองรับจึงไม่เป็นปัญหา แต่การย้ายถิ่นฐานเข้าไปอยู่ในประเทศใหมนั้นมีปัญหาอยู่ที่เรื่องคติถือ ชาติพันธุ์(คือเห็นว่าพวกเราดีกว่าพวกเขา) ปัญหาเรื่องชาตินิยม ปัญหาความกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการแย่งอาชีพกัน รวมทั้งปัญหาเลือกปฏิบัติทางด้านจิตวิทยาและด้านสังคม ก็จึงทำให้นโยบายการอพยพคนเข้าประเทศจำต้องมีการเลือกเฟ้นกันมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดีการย้ายถิ่นนี้ก็ได้ถูกเสนอให้นำไปใช้ควบคู่ไปกับการคุมกำเนิด และการเพิ่มผลผลิตทางอาหารและทรัพยากรอื่นๆ โดยให้ถือว่าเป็นวิธีการที่มีศักยภาพที่จะไปช่วยลดความกดดันอันมีผลสืบเนื่องมาจากประชากรล้นประเทศได้ทางหนึ่ง

Oder – Neisse Line เส้นออเดอร์-นีสเซ

·       Oder – Neisse Line
·      เส้นออเดอร์-นีสเซ

เส้นพรมแดนโดยพฤตินัยที่ได้ตกลงกันระหว่างเยอรมนีตะวันออกกับโปแลนด์เมื่อตอนยุติสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นออร์เดอร์นีสเซตั้งตามชื่อของแม่น้ำสองสายคือแม่น้ำออเดอร์และแม่น้ำนีสเซที่ใช้เป็นเส้นปันเขตแดนของสองประเทศดังกล่าวจากทะเลบอลติกตอนใต้เรื่อยขึ้นไปจนจรดพรมแดนของเชโกสโลวะเกีย พวกผู้แทนของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรได้ประชุมกันที่เมืองปอตสดัมเมื่อปี ค.ศ. 1945 เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆรวมถึงเรื่องการดำเนินการกับเยอรมนีเป็นการชั่วคราว และแนวปฏิบัติในการร่างสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้าย ซึ่งพวกผู้แทนฝ่ายพันธมิตรได้ตกลงกันว่า ปรัสเซียตะวันออกทางด้านเหนือๆจะถูกผนวก "ในหลักการ" โดยสหภาพโซเวียต และว่า เมื่อได้ตกลงกันในเรื่องพรมแดนครั้งสุดท้ายแล้ว ก็จะให้ปรัสเซียตะวันออกทางตอนใต้ๆและดินแดนเยอรมีที่อยู่ทางด้านตะวันออก ของเส้นเขตแดนแม่น้ำ "อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐโปแลนด์" นอกจากนั้นแล้วฝ่ายพันธมิตรก็ยังได้ตกลงกันด้วยว่า จะใช้ "หลักความเป็นระเบียบเรียบร้อยและหลักมนุษยธรรม "ที่จะโยกย้ายคนสัญชาติ เยอรมันออกไปจากโปแลนด์ เชโกสโลวะเกีย และฮังการี เส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้ได้รับการรับรองจากทั้งสองฝ่ายเป็นครั้งแรกในข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิเมื่อปี ค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กลุ่มประเทศตะวันออกและกลุ่มประเทศตะวันตกยอมรับสถานภาพเดิมในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความสำคัญ สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงในปี ค.ศ. 1945 แต่ว่าเส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้ยังคงเป็นประเด็นในความสัมพันธ์ระหว่าง ตะวันออกกับตะวันตกโดยทั่วไปและในความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์โดยเฉพาะ สงครามเย็นที่เกิดขึ้นมาได้ส่งผลให้แบ่งแยกเยอรมนีโดยพฤตินัยออกเป็น 2 ส่วน คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมนีตะวันตก) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน(เยอรมนีตะวันออก) แต่ด้วยเหตุที่มิได้มีการเจรจากันในเรื่องสนธิสัญญาสันติภาพครั้งสุดท้าย ดินแดนเยอรมันที่อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำออเดอร์และนีสเซ จึงได้ถูกผนวกโดยสหภาพโซเวียตและโปแลนด์ และในขณะเดียวกันคนเยอรมันราวสิบล้านคนก็ได้ถูกบังคับให้อพยพเข้าไปอยู่ใน เยอรมนีตะวันออก แต่ในท้ายที่สุดแล้วคนเหล่านี้เกือบจะทั้งหมดได้หลบหนีเข้าไปอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน(เยอรมนีตะวันตก) ถึงแม้ว่าข้อตกลงกรุงเฮลซิงกิจะมิได้มีผลบังคับเหมือนกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเป็นแต่เพียงข้อตกลงทางการทูตมิได้เป็นสนธิสัญญา กระนั้นก็ดีข้อตกลงกรุงเฮลซิงกินี้ก็ส่อแสดงว่า การรณรงค์ที่กระทำกันมายาวนานของเยอรมนีตะวันตกเพื่อให้มีการรวมเยอรมนีทั้งสองฟากเข้าด้วยกันอาจจะยุติลงก็ได้ การรับรองเยอรมนีตะวันออกในทางการทูตโดยทุกประเทศของกลุ่มตะวันตกรวมทั้งสหรัฐอเมริกา และการยอมรับให้เยอรมนีตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ทำให้เส้นพรมแดนออเดอร์-นีสเซนี้เป็นเส้นพรมแดนหลักอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง จวบจนกระทั่งเยอรมนีทั้งสองฟากได้รวมประเทศสำเร็จในช่วงทศวรรษปี 1990

Overseas Chinese ชาวจีนโพ้นทะเล

Overseas Chinese 
·   ชาวจีนโพ้นทะเล

คนที่มีบรรพบุรุษและวัฒนธรรมจีนแต่ไปอยู่นอกพรมแดน ของผืนแผ่นดินใหญ่จีนและเกาะฟอร์โมซา(ไต้หวัน) ชาวจีนโพ้นทะเลหลายล้านคนที่อยู่ในประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาความผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม

ความสำคัญ ชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้มีความแตกต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในแง่ของจำนวนคน ในแง่ของแนวโน้มที่เป็นพวกชอบตั้งชุมชนแยกตัวไม่ยอมสุงสิงกับคนพื้นเมือง ในแง่ที่มีความขยันขันแข็งในการทำมาหากินจนสามารถควบคุมเศรษฐกิจในประเทศที่ตนไปพำนักอาศัยอยู่นั้นได้ และในแง่ที่เป็นพวกมีความผูกพันทางวัฒนธรรมและการเมืองกับกรุงปักกิ่ง(ผืนแผ่นดินใหญ่จีน) และกับกรุงไทเป(จีนไต้หวัน) จากคุณสมบัติต่างๆดังกล่าวมานี้ก็จึงมักทำให้ชาวจีนโพ้นทะเลแปลกแยกไปจากคนท้องถิ่น เป็นตัวการคุกคามเสถียรภาพทางการเมือง และเป็นตัวการขัดขวางกระบวนการสร้างชาติ ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆอาศัยอยู่ แต่ในกรณีของชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติจีนจะเป็นตัวการสร้างปัญหามากเป็นพิเศษในเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย พม่า และมาเลเซีย เพราะชาวจีนเหล่านี้ต่างปฏิเสธที่จะผสมกลมกลืนเข้ากับคนพื้นเมือง และชาวจีนเหล่านี้ก็ยังมีพลังทางเศรษฐกิจสามารถทำตัวเองให้มีศักยภาพเป็น พลังทางการเมืองได้ด้วย