Monday, August 1, 2011

Geopolitics ภูมิรัฐศาสตร์

·         Geopolitics
·   ภูมิรัฐศาสตร์

แนวทางนโยบายต่างประเทศที่พยายามอธิบายและพยากรณ์ พฤติกรรมทางการเมืองและขีดความสามารถทางด้านการทหารในแง่ของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ด้วยเหตุนี้ภูมิรัฐศาสตร์จึงเป็นนิยัตินิยมทางประวัติศาสตร์(historical determinism)ที่อิงอาศัยภูมิศาสตร์ในระดับต่างๆ ฟรีดริช รัตเซล (Friedrich Ratzel)(1724-1804) ได้เปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งจะต้องขยายพื้นที่ออกไปมิฉะนั้นก็จะต้องตาย สานุศิษย์ของรัตเซล ชื่อ รูดอล์ฟ เจลเลน (Rudolf Kjellen)(1864-1922) ก็ได้ดำเนินรอยตามกระบวนการเปรียบเทียบรัฐกับอินทรีย์นี้โดยกล่าวว่ารัฐเป็นอะไรมากไปกว่าแนวความคิดทางกฎหมาย เจลเลนได้พัฒนากฎเกณฑ์ว่าด้วยรัฐโดยกล่าวว่าเป็นอินทรีย์ทางภูมิศาสตร์ในเทศะและได้ตั้งชื่อกฎเกณฑ์เหล่านี้ว่าภูมิรัฐศาสตร์ไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ รัฐในฐานะที่เป็นรูปแบบแห่งชีวิตอย่างหนึ่ง (The State as a Form of Life)(1916) หลักการของภูมิรัฐศาสตร์นี้ถึงแม้จะสร้างทฤษฎีโดยอิงภูมิศาสตร์และมีการนำเสนอในแง่ของการวิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์แต่ก็เต็มไปด้วยสิ่งโฆษณาชวนเชื่ออยู่มากมาย เกียรติภูมิของภูมิรัฐศาสตร์เสื่อมเสียไปมากเพราะนักภูมิรัฐศาสตร์อย่างเช่น คาร์ล เฮาโชเฟอร์(Karl Haushofer)(1869-1946)มักจะให้การสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือนโยบายแห่งชาติอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะ โดยพวกเขาจะพยายามอธิบายหรืออ้างเหตุผลให้การสนับสนุนในแง่ของการอ้างเหตุผลโดยอิงหลักภูมิศาสตร์ ศัพท์ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ นี้ก็ยังอาจจะนำไปใช้เพื่ออธิบายภูมิศาสตร์การเมืองที่พิจารณาในแง่ของโครงสร้างของโลกและรัฐที่เป็นองค์ประกอบของโลก หรืออาจจะใช้หมายถึงการวางแผนนโยบายต่างประเทศในรูปแบบที่นำองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ต่างๆมาใช้เป็นข้อพิจารณา


ความสำคัญ เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆมักจะเกิดในบริบททางภูมิศาสตร์ และองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์อาจมีอิทธิพลต่อกระแสของเหตุการณ์ได้ แต่ตัวมนุษย์เรานี่เองไม่ใช่ภูมิศาสตร์ที่ไหนที่เป็นผู้สร้างเหตุการณ์ทาง การเมือง ภูมิศาสตร์คือส่วนผสมขององค์ประกอบต่างๆ เช่น ขนาด ที่ตั้ง ภูมิอากาศ และภูมิประเทศเท่านั้นเอง นอกจากนี้แล้วภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งแต่ก็มิใช่ว่าจะเป็น ปัจจัยเพียงหนึ่งเดียวโดยลำพังของอำนาจชาติ ความสำคัญของภูมิศาสตร์มีความสัมพันธ์กับข้อพิจารณาอื่นๆ เป็นต้นว่า เศรษฐกิจ เทคโนโลยี พลังมนุษย์ และขวัญด้วย การที่เราจะตีค่าปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้โดยพิจารณาเข้าด้วยกันว่า เป็นสมการอำนาจชาติได้นั้นจะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำไปสัมพันธ์กับสมการอำนาจ ของรัฐอื่นๆโดยพิจารณาในบริบทของห้วงเวลา สถานที่ และสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะเท่านั้น ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์เป็นสิ่งที่นักปฏิบัตินโยบายต่างประเทศจะต้องนำมา พิจารณาอย่างต่อเนื่องก็จริง แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าปัจจัยทางภูมิศาสตร์นี้จะเป็นปัจจัยคงที่อยู่ ตลอดไป ยกตัวอย่างเช่น การมีพรมแดนติดต่อกับรัฐอื่นโดยไม่มีสิ่งกีดขวางทางธรรมชาตินั้นจะช่วยอำนวย ความสะดวกในการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐนั้นก็ได้ไม่จำเป็นว่าจะทำให้เกิดความ ขัดแย้งกันเสมอไป สภาพน้ำแข็งในขั้วโลกอาจจะเป็นสิ่งกีดขวางทางธรรมชาติทำให้รัฐที่อยู่ในอาณา บริเวณนั้นไม่สามารถพัฒนาเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้ แต่สภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางรัฐเช่นนี้พัฒนาเป็น มหาอำนาจทางอากาศแต่อย่างใด ทฤษฎีทางภูมิศาสตร์มีลักษณะไม่ผิดอะไรไปจากทฤษฎีที่ใช้เหตุผลอย่างเดียวใน การตีความทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายอย่างเช่นนิยัตินิยมทางเศรษฐกิจเป็นต้น คือ ไม่สามารถใช้อธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างสมบูรณ์เป็นที่น่าพอใจได้ อย่างไรก็ดีทฤษฎีทางภูมิศาสตร์นี้เป็นแนวทางที่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ ศึกษาการเมืองระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนได้อย่างกว้างไกลได้ดียิ่งขึ้น

Geopolitics: Haushofer Geopolitik ภูมิรัฐศาสตร์ : ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์

·   ภูมิรัฐศาสตร์ : ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์

ภูมิรัฐศาสตร์เยอรมันสาขาหนึ่งที่ได้พัฒนาขึ้นมาโดยคาร์ล เฮาโชเฟอร์(Karl Haushofer)(1869-1946) นายพลชาวเยอรมัน ที่เป็นทั้งนักภูมิศาสตร์ พักปฐพีวิทยา นักประวัติศาสตร์ และนักท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออกไกล ยีโอโพลิติกของพลตรีเฮาโชเฟอร์นี้มีจุดเริ่มจากทฤษฎีดินแดนหัวใจ (heartland theory)ของนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด เจ. แมคคินเดอร์ (Sir Halford J. Mackinder)และจากแนวความคิดเกี่ยวกับเทศะ(space) และรัฐอินทรีย์ (organic state)ของฟีดริค รัตเซล(Friedrich Ratzel) และรูดอล์ฟ เจลเลน (Rudolf Kjellen)พลเอกเฮาโชเฟอร์และหมู่ศิษย์ที่สถาบันยีโอโพลิติกเมืองมิวนิค(Institute of Geopolitics in Munich) ได้ใช้แนวความคิดเหล่านี้อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้เยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและได้วางแผนให้เยอรมนีสามารถเป็นผู้พิชิตได้ในอนาคต ในฐานะที่เป็นนายพลตรีในกองทัพบกเยอรมันเฮาโชเฟอร์มีความเห็นว่าอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)และพรรคนาซีของเขาเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้เยอรมนีบรรลุถึงเป้าหมายแห่งความเป็นผู้พิชิตโลกได้ ข้างฝ่ายฮิตเลอร์เองก็ได้ใช้ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ แนวความคิดเรื่องลีเบนสราอุม(lebensraum)มาเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของตนเองเหมือนกัน เฮาโชเฟอร์และสานุศิษย์ของเขาได้ใช้แนวทางในทฤษฎีดินแดนหัวใจมาสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ค่ายเยอรมนี-รัสเซีย-ญี่ปุ่นขึ้นมา โดยในที่สุดแล้วเยอรมนีก็จะผงาดขึ้นมาเป็นหัวโจกใหญ่ในค่ายนี้ได้ นอกจากนี้แล้วเฮาโชเฟอร์ก็ยังมองเห็นว่าอานุภาพของเยอรมนีจะกระจัดกระจายอยู่ทั่วดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซียโดยไม่มีความเป็นเอกภาพหากว่าฮิต เลอร์ดำเนินการไปตามแผนส่งกองทัพเยอรมันบุกเข้าไปในรัสเซีย แต่พอเฮาโชเฟอร์ได้พยายามชี้ชวนให้ฮิตเลอร์เลิกล้มแนวทางนี้ ฮิตเลอร์ก็ได้เลิกนิยมในตัวเขา และเขาได้ถูกนำตัวไปกักขังไว้ที่ค่ายกักกันแห่งหนึ่งในเมืองดาเชา(Dachao)เมื่อปี ค.ศ. 1944 ต่อมาเมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงครามในปี ค.ศ. 1945 เขาก็ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันแต่ก็ได้ทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย)ในปีถัดมา

ความสำคัญ ยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์เป็นการผสมผสานเข้ากันในเชิงกึ่งวิทยาศาสตร์ ระหว่างอภิปรัชญาทางภูมิศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ มานุษยวิทยา และคตินิยมเชื้อชาติ อย่างไรก็ดียีโอโพลิติกนี้ก็มีความสำคัญเพราะว่าเป็นที่ยอมรับของชาวเยอรมันจำนวนมากที่ตกอยู่ในสภาพเสียขวัญจากการที่เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 แนวความคิดสำคัญของยีโอโพลิติกของเฮาโชเฟอร์มีดังนี้ คือ (1) วัตถุประสงค์ทางทหารของรัฐจะต้องใช้นโยบายพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ (2) เผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมันถูกกำหนดชะตากรรมให้นำสันติภาพมาสู่โลกโดยการครอบครองโลก ส่วนรัฐอื่นๆก็จะต้องยินยอมให้เยอรมนีได้ลีเบนสราอุม(lebensraum)ตามที่ต้องการ (3) การปกครองของเยอรมันในอันดับแรกนั้นจะต้องขยายไปทั่วทุกดินแดนของเยอรมัน ทั้งในส่วนที่มีการใช้ภาษาเยอรมัน มีเผ่าพันธุ์เป็นคนเยอรมันหรือมีผลประโยชน์เป็นของเยอรมันก่อน ต่อจากนั้นไปก็ให้ขยายอำนาจไปทั่วทั้งโลก (4)การที่เยอรมันจะสามารถครอบครองเกาะแอฟโฟร-ยูเรเซีย(Afro-Eurasia)ได้สำเร็จนั้นก็จะต้องเอาชนะมหาอำนาจทางทะเลให้ได้โดยการเดินทัพทางบกที่ยาวไกลซึ่งก็จะทำให้เยอรมนีมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางทหารและจะเป็นฐานให้สามารถครอบครองโลกได้อย่างสมบูรณ์ และ(5) พรมแดนทั้งหลายทั้งปวงมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามและจะ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตามบงการของผลประโยชน์แห่งชาติเยอรมัน วงการศึกษาภูมิรัฐศาสตร์ได้รับความเสื่อมเสียไปมากจากการที่ได้มีการนำเอายีโอโพลิติกนี้มาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อการขยายดินแดนของเยรมัน

Geopolitics : Heartland Theory ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีหัวใจ


·         Geopolitics : Heartland Theory
·    ภูมิรัฐศาสตร์ : ทฤษฎีหัวใจ

ทฤษฎีที่ว่ารัฐซึ่งสามารถครอบครองทรัพยากรทางมนุษย์และทางกายภาพของผืนแผ่นดินใหญ่ในยูเรเซียซึ่งอยู่ระหว่างเยอรมนีกับไซบีเรียตอนกลางได้ ก็จะอยู่ในฐานะครอบครองโลกได้ ทฤษฎีหัวใจนี้ได้รับการพัฒนาโดยนักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อ เซอร์ฮัลฟอร์ด เจ. แมคคินเดอร์ (Sir Halford J. Mackinder) (1869-1947) ในบทความของเขาชื่อหัวใจทางภูมิศาสตร์ของประวัติศาสตร์”(The Geographical Pivot of History) (1904) และในงานเขียนที่โด่งดังของเขา คือ อุดมคติประชาธิปไตยและความเป็นจริง: การศึกษารัฐศาสตร์ของการฟื้นฟู (Democratic Ideals and Reality: A Study in the Politics of Reconstruction)(1919) ทฤษฎีหัวใจนี้เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะผลจากการที่แมคคินเดอร์ได้ทำการศึกษาสัมพันธภาพในระดับโลกระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเล

ความสำคัญ แมคคินเดอร์ได้ตั้งข้อสมมติฐานขึ้นมาว่า มีข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์บางอย่างมีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดต่อแนวทางของการ เมืองโลก ข้อเท็จจริงที่เขาพูดถึงนี้ ได้แก่ (1) มีเกาะโลก”(world island) (ยุโรป,เอเชีย และแอฟริกา) อยู่ล้อมรอบดินแดนหัวใจ” (heartland)หรือพื้นที่หัวใจ”(pivot area)ของยูเรเซีย ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากทางทะเล (2) มีดินแดนชายฝั่งทะเลของเกาะโลกนี้ คือ ดินแดนภายใน” (inner)หรือดินแดนเกือบเป็นรูปวงเดือน” (marginal crescent) ประกอบกันเป็นมหาอำนาจทางทะเล และ (3) มีฐานอำนาจของเกาะ ประกอบด้วย อเมริกาเหนือและใต้ กับออสเตรเลีย เรียกว่า อินซูลาร์”(insular) หรือวงเดือนรอบนอก”(outer crescent) แมคคินเดอร์มีสมมติฐานว่า มหาอำนาจทางบกจะเจริญเติบโตข้นเรื่อยๆจนเข้าครอบงำมหาอำนาจทางทะเล เขาจึงได้เตือนไว้ว่าใครครอบครองยุโรปตะวันออกได้ก็จะครอบครองดินแดนหัวใจ;ใครครอบครองดินแดนหัวใจได้ก็จะครอบครองเกาะโลก; ใครครอบครองเกาะโลกได้ก็จะครอบครองโลก” (who rules East Europe commands the Heartland; who rules the Heartland commands the World Island; who rules the World Island commands the World)แมคคินเดอร์ได้ประกาศสนับสนุนนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างมหาอำนาจทางบกกับมหาอำนาจทางทะเล ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะไม่ให้ประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่ในฐานะที่จะเข้าครอบงำดินแดนหัวใจนั้นได้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แมคคินเดอร์ได้ปรับปรุงทฤษฎีของเขาเพื่อให้สามารถนำไปใช้ศึกษาพัฒนาการอานุภาพทางทะเลและการเติบโตทางอำนาจชาติของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ภายนอกเกาะโลกนั้น ในปี ค.ศ. 1919 เขาได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากเยอรมนีสามารถครอบครองสหภาพโซเวียตได้ และเมื่อปี ค.ศ. 1943 เขาก็ได้เตือนถึงผลที่จะตามมาหากสหภาพโซเวียตสามารถครอบครองเยอรมนีได้ แนววิเคราะห์ของแมคคินเดอร์นี้ก็ยังสามารถนำมาใช้กับโลกปัจจุบันได้โดยใช้อธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องดำเนินนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์ หรือใช้อธิบายถึงผลที่จะตามมาจากการรวมตัวอย่างใกล้ชิดของสหภาพโซเวียตและจีน